Sunday, September 13, 2015

ประเพณีเก่าแก่ของคนไทย ที่คนรุ่นใหม่ อาจ...ลืมเลือน. ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ชื่อเรียกที่อาจจะคุ้นหูกันเป็นอย่างดีสำหรับคนรุ่นก่อน ปัจจุบันจะมีสักกี่คนที่รู้จัก สิ่งเหล่านี้บ้าง วันหนึ่งผมได้มีโอกาสไปร่วมงานอย่างเงียบๆในการยกช่อฟ้าขึ้นประจำที่เดิมหลังจากนำลงมาซ่อมแซม มีทั้งพิธีพุทธ และพราหมณ์ คนโบราณถือว่าเป็นงานบุญใหญ่มาก เพราะช่อฟ้าเป็นของสูง ส่วนที่สูงที่สุดของพระอุโบสถบน ต้องเผชิญกับแสงแดด สายฝน ลมหนาว สำหรับวัดหนึ่งๆ ที่ผ่านมาหลายร้อยปี ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า...ช่อฟ้าต้องเจอกับอะไรมาบ้าง... "ช่อฟ้า" ตีความตามนามหมายถึง ช่อหรือกิ่งที่ยื่นขึ้นไปบนท้องฟ้า ซึ่งความจริงแล้วช่อฟ้ามีวิวัฒนาการและอยู่คู่กับดินแดนในอุษาคเนย์มายาวนาน ส่วนที่เรียกกันว่าช่อฟ้านั้นคือ ช่อที่ยื่นขึ้นไปเหนือเครื่องลำยองอันหมายถึง รวยระกา ใบระกา หางหงส์ ที่ประกอบติดกันบนหน้าบันทั้งสองด้านของอาคารสถาปัตยกรรมไทย พูดง่ายๆ ว่า หากยืนอยู่หน้าพระอุโบสถแล้วมองขึ้นไป ก็จะเห็นส่วนที่เป็นกิ่งหรือช่อสูงสุดอยู่กิ่งหนึ่งบนหน้าบัน นั่นแหละเขาเรียกว่า "ช่อฟ้า" วิวัฒนาการของช่อฟ้านั้นมีมายาวนาน เข้าใจว่าผู้คนในดินแดนอุษาคเนย์นิยมประดับประดาให้มีส่วนยื่นเลยหลังคา เช่น การนำเขาควายบ้าง นำไม้มาไขว้กันบ้าง ในลักษณะที่ทางเหนือเรียกว่า "กาแล" โดยเชื่อว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเก่งกล้าในการล่าสัตว์ หรือมีความเชื่อว่าจะไล่ นกแสก กา หรือนกเค้าแมว ที่ถือว่าไม่เป็นมงคลเพราะเป็นพาหนะของยมทูต เมื่อเกาะบ้านใดเท่ากับมียมทูตมารับตัวไป คนโบราณจึงนำปีกไม้ใหญ่ๆ มาไขว้กันให้นกเหล่านี้เข้าใจผิดว่าเป็นเหยี่ยวหรืออินทรี จะไม่กล้ามาใกล้ อันเป็นความหมายว่า เมื่อนกกาแลเห็นจะเกิดความกลัว นอกจากนี้ยังสันนิษฐานได้อีกว่า กาแลทางเหนือนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่รับมาเมื่อครั้งพม่าครองเมืองเหนือหมายถึง เรือนใดที่ติดกาแลจะได้รับการยกเว้นภาษีจากทางพม่า สำหรับ ภาคกลาง ไม่นิยมนำเขาสัตว์หรือติดเหนือจั่วแบบกาแล หากแต่จะทำเป็นกิ่งหรือช่อยื่นขึ้นไปอันเดียว ส่วนใหญ่มักจะพบในอาคารสถา ปัตยกรรมชั้นสูง ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์และองค์พระมหากษัตริยาธิราช นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า "ช่อฟ้า" แต่จะปรากฏในหลายรูปหลายลักษณะ เช่น ช่อฟ้าปากนก ช่อฟ้าหางปลาไหล ช่อฟ้าปากปลา หรือทำเป็นรูปเทวดา นางฟ้าอยู่เหนือจั่วเหนือหน้าบัน ก็เรียกว่า "ช่อฟ้า" เช่นกัน บ้างก็นิยมติดกระดิ่งรูปใบโพธิ์เข้าไปเพื่อให้ได้ประโยชน์ดั้งเดิม คือไล่นกกาที่จะมาถ่ายรดหลังคา หรือไล่นกอัปมงคลก็ได้เช่นกัน คนโบราณถือว่า "ช่อฟ้า" เป็นสิ่งสูงสุดมองด้านข้างไกลๆ คล้ายรูปพนมสักการะทวยเทพและพระพุทธองค์บนสรวงสวรรค์ บ้างทำเป็นปลายหางพญานาคแล้วให้เลื้อยลงไปสองฟากข้างกลายเป็นรวยระกา มีครีบนาคเป็นใบระกา เมื่อขดลำตัวเกาะแปไว้จะเรียกว่า นาคสะดุ้ง หรืองวงไอยรา และผงกหัวนาคขึ้นเป็นหางหงส์ตรงเชิงชาย แต่ถ้าบิดหัวนาคให้ตรงกับทางเดินจะเรียกว่า นาคเบือน สาเหตุที่นิยมทำเป็นรูปนาค เนื่องจากคติที่ว่าพญานาคเป็นผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนามาทุกยุคทุกสมัย "พิธีการยกช่อฟ้า" ถือว่าเป็นพิธีสำคัญมาก เนื่องจากเป็นการยกส่วนบนสุดของอาคารศาสนสถานหรือพระราชวัง มีคติความเชื่อว่า หากใครได้ร่วมบุญยกช่อฟ้าแล้วนับเป็นกุศลมหากุศลอย่างยากจะหาใดเท่าเทียมได้ เนื่องจากเป็นส่วนสูงสุดของอาคาร และถือว่าเป็นการทำองค์ประกอบแห่งอาคารให้สมบูรณ์นั่นเอง....